ความเป็นมา

บุคลากรเฉพาะด้าน CSR ประจำโรงงาน
ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2558 เห็นชอบในหลักการให้ผู้ประกอบธุรกิจด้านต่างๆ ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการสนับสนุนและสร้างจิตสำนึกให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานมีความรับผิดชอบต่อสังคมและเพื่อให้การดำเนินกิจการโรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน และเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมให้มีความรู้ ความสามารถ อันเป็นการยกระดับให้ผู้ประกอบการโรงงานมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของการแข่งขันในตลาดสากลและเป็นผู้นำในประชาคมอาเซียน

กระทรวงอุตสาหกรรมจึงออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน สำหรับโรงงานจำพวกที่ 3 ตามบัญชีท้ายกฎกระทรวง (พ.ศ. 2535) ที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เพื่อให้มีบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงานที่ผ่านการอบรมและทดสอบตามหลักสูตรที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมกำหนด และขึ้นทะเบียนเป็นบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงานต่อไป

โดยบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน จะเป็นผู้ที่ดูแลและรับผิดชอบการปฏิบัติของโรงงานอุตสาหกรรมให้มีการดำเนินงานตามมาตรฐาน CSR-DIW พร้อมทั้งการจัดทำแผนงาน และรายงานผลการดำเนินงานของโรงงาน ที่สอดคล้องตามมาตรฐานดังกล่าว รวมทั้งจะเป็นผู้ที่ช่วยทำหน้าที่สร้างวัฒนธรรมการรับผิดชอบต่อสังคมให้กับองค์กร และพัฒนาองค์กรให้อยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

บุคลากรเฉพาะด้าน CSR มี 3 ประเภท
1 บุคลากรเฉพาะด้านการมีส่วนร่วมและพัฒนาชุมชน
2 บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับทั่วไป
3 บุคลากรเฉพาะด้านการบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมระดับอาวุโส

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะด้านความรับผิดชอบต่อสังคมประจำโรงงาน พ.ศ. 2559 ไม่ได้บังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภทต้องมีการขึ้นทะเบียนบุคลากรเฉพาะดังกล่าว เป็นการแนะนำให้ควรมี โดยเสนอให้โรงงานอุตสาหกรรมที่ควรมี ได้แก่
1. โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจัดทำรายงาน EIA
2. โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจัดทำรายงาน EHIA
3. โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจัดทำรายงาน ESA
4. โรงงานอุตสาหกรรมที่มีการจัดทำรายงาน SA
5. โรงงานอื่นๆ นอกเหนือจาก (1) ถึง (4) ที่มีความประสงค์มีบุคลากรเฉพาะ

 

Skip to content